วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

ความสำคัญของการเรียนรู้
ชาญชัย อินทรประวัติ (http://www.kroobannok.com/blog/45566 ) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักการสำคัญของการเรียนรู้ ไว้ว่า มีหลักการอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้
       1. ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างจริงจัง (Active Participation) หมายความว่า เมื่อครูสอนนักเรียนก็จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสอนของครูทั้งกายและใจ นักเรียนที่นั่งเหม่อลอยหรือนั่งหลับในขณะที่ครูสอนถือว่าไม่มีส่วนร่วมมากนัก นักเรียนที่ไม่ยอมคิดเมื่อครูถามคำถามก็ถือว่า ไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นักเรียนที่ลอกการบ้านเพื่อนแทนที่จะทำเอง ถือว่ามีส่วนร่วมเหมือนกันแต่ไม่เข้าขั้น active นักเรียนที่เข้าห้องปฏิบัติการแต่ไม่ยอมทำอะไรเองคอยอาศัยแต่เพื่อน ก็ถือว่าไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังเช่นกัน  ครูจำนวนไม่น้อยที่ชอบคิดว่าพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนี้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนโดยตรง เพราะครูมีหน้าที่สอนเท่านั้น เข้าทำนองที่ว่า “นี่คือเรื่องของเธอ” “เรื่องของฉันคือสอน เรื่องของเธอคือเรียน” แท้ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งของการสอนก็คือการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั่นเอง
       2. ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้ทีละขั้นทีละตอนจากง่ายไปสู่ยากและจากไม่ซับซ้อนไปสู่รูปที่ซับซ้อน (Gradual approximation) ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ต้องบวกลบเลขเป็นเสียก่อนจึงจะสามารถเรียนรู้การคูณและการหาร คนเราต้องพูดเป็นคำ ๆ ได้เสียก่อนจึงจะสามารถพูดเป็นประโยคได้ หรือต้องเดินให้ได้เสียก่อน แล้วจึงวิ่งค่อยเหยาะ ๆ จากนั้นจึงวิ่งเร็ว ๆ เช่นนี้เป็นต้น ครูที่หวังจะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้จึงต้อง รู้จักแบ่งเนื้อหา และจัดลำดับเนื้อหาตามความยากง่าย แล้วจึงนำมาสอนทีละขั้นทีละตอนอย่างเหมาะสม
      3.ให้นักเรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับที่เหมาะสมและไม่เนิ่นนานจนเกินไป  (Immediate feedback) เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมตามคำแนะนำหรือคำสั่งของครูไป แล้วเขาก็มักอยากจะ รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเขาได้รับข้อมูลย้อนกลับทันการและเหมาะสมเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ ที่ดีรวมทั้งเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าเขาไม่ได้รับข้อมูลย้อนกลับหรือต้องคอยเป็นเวลานานจึงจะได้รับเขาจะเกิดการเรียนรู้น้อย และในขณะเดียวกันความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ก็จะมีไม่มาก เพราะฉะนั้นครูจึงควรให้คำแนะนำให้เร็วที่สุดเมื่อนักเรียนเกิดความไม่เข้าใจ สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่การให้ข้อมูลย้อนกลับก็คือนอกจากจะต้องไม่ปล่อยให้เนิ่นนานเกินไปแล้ว ครูต้องบอกเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ถูกต้องอย่างไร” และ “ยังไม่ถูกต้องอย่างไร” ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้น นอกจากนั้น วิธีบอกหรือ Approach ของครูก็ควรจะไม่ทำลายความรู้สึกดี ๆ ของเด็กด้วย 
      4.  การเสริมแรงหรือให้กำลังใจที่เหมาะสม (Appropriate Reinforcement) ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าอายุมากหรืออายุน้อย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ล้วนต้องการกำลังใจหรือการเสริมแรงเพื่อให้ฟันฝ่าอุปสรรค แสวงหาความรู้ต่อไป ซึ่งการให้กำลังใจของครูอาจจะกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น เมื่อเด็กพยายามจะเล่าถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของเราเองให้ครูฟัง ครูก็ควรต้องมีเวลาฟังการเสริมแรงหรือการให้กำลังใจที่ดีจะต้องมีความพอเหมาะพอสมกับผลงานคือ ไม่ชมเชยจนเกินความเป็นจริง เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ต้องไม่น้อยจนเกินไป สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอาจจะไม่ต้องพูดชมเชยด้วยก็ได้เพราะเขาโตแล้ว
    
 วารินทร์ สายโอบเอื้อ (2529:42) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ไว้ดังนี้
      1. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเปลี่ยนแง่ดี หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้น การเรียนรู้จึงมีความหมายกว้างกว่า การศึกษา เพราะการศึกษานั้นเป็นการจัดระบบการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนรู้เปลี่ยนพฤติกรรมไปในที่ดี   การศึกษาจึงหมายเฉพาะด้านดีเท่านั้น ส่วนการเรียนรู้อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
      2. การเรียนรู้จะต้องเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึกหัด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย เช่น อ้วนขึ้น ผอมลง สูงขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นไข้ ติดเชื้อบางอย่างหรือร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือพิการ ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้
      3. การเปลี่ยนแปลงที่เนื่องมาจากการเรียนรู้นั้นจะต้องมีลักษณะค่อนข้างถาวร คือมีความคงทนเป็นระยะเวลานาน ดั้งนั้นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น ความเหนื่อย การติดเชื้อบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงเพราะฤทธิ์ของยา จึงไม่ใช่การเรียนรู้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวเท่านั้นดังได้กล่าวมาแล้วว่าขบวนการเรียนรู้มีลักษณะเช่นเดียวกับขบวนการพัฒนาการ กล่าวคือ เป็นในลักษณะเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญในการกระทำกิจกรรมต่างๆซึ่งเป็นขบวนการที่ต่อเนื่องสะสมกันไปตลอดชีวิต ดังนั้น พฤติกรรมและความสามารถด้านต่างๆของคนเราในปัจจุบันเป็นผลมาจาก สรรถภาพตามธรรมชาติหรือพันธุกรรม ระดับวุฒิภาวะ (Maturity) และผลจากการเรียนรู้ในอดีตด้วย
    
พงษ์พันธุ์  พงษ์โสภา (2542:79) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับหลักการสำคัญของการเรียนรู้ ไว้ว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสามารถปรับตัวเราให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง นักจิตวิทยา ครู อาจารย์ ตลอดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงของการศึกษา จึงให้ความสนใจเรื่องของการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ

 สรุป ความสำคัญของการเรียนรู้  หมายถึง  การเรียนรู้นั้นมีความสำคัญต่อทุกคน ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน ก็ย่อมนำการเรียนรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวัน  เพราะคนเราทุกคนนั้นย่อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆความรู้ใหม่ๆให้กับตัวเองเ เพื่อที่ตัวเรานั้นจะได้เพิ่มพูนความรู้ เปลี่ยนแปลงตัวเอง  ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสามารถปรับตัวเราให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การเรียนรู้จึงมีความสำคัญกับเราและการเรียนรู้นั้นจะอยู่กับเราไปอย่างต่อเนื่องหรือตลอดชีวิตนั่นเอง
        
       ที่มา
ชาญชัย อินทรประวัติ.[online] http://www.kroobannok.com/blog/45566.
      ความสำคัญของการเรียนรู้.สืบค้น25/06/58.

พงษ์พันธุ์  พงษ์โสภา.(2529).จิตวิทยาการศึกษา .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
      พัฒนาการศึกษา. 

วารินทร์ สายโอบเอื้อ.(2542).จิตวิทยาการศึกษา.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สยามยู
      เนี่ยน พริ้นติ้ง.
         


วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้

ความหมายของการเรียนรู้
 เสรี วงษ์มณฑา (https://th-th.facebook.com/seri.wongmonta/posts/592724210766056)
 ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้ (learning) คือการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน คือ
ด้านสมอง (cognitive change) คือ เมื่อเกิดการเรียนรู้จากไม่รู้ก็ได้รู้ ไม่เข้าในก็ได้เข้าใจ ไม่ตระหนักก็จะได้ตระหนัก
2. ด้านความรู้สึก (affective change) คือเมื่อเกิดการเรียนรู้จากที่เคยไม่ชอบก็กลายเป็นชอบ อาจจะชอบน้อยกลายเป็นชอบมาก ชอบเป็นไม่ชอบ เกลียดน้อยกลายเป็นเกลียดมาก
3. ด้านพฤติกรรม (conative change) คือเมื่อเกิดการเรียนรู้จากที่ทำไม่เป็นกลายเป็นทำเป็น จากที่ทำไม่เก่งกลายเป็นทำเก่ง ไม่เคยทำหันมาทำ เคยทำอยู่แล้วเลิกทำ เคยนานๆทำทีกลายเป็นทำบ่อยๆ

ประดินันท์ อุปรมัย (2540:121) ได้ให้ความหมายการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้ คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์โดยการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเหตุให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิม แตกต่างไปจากเดิมประสบการณ์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
      
สุรางค์ โค้ว ตระกูล (http://www.slideshare.net/unyaparn/learning-12074199ได้ให้ความหมายการเรียนรู้ไว้ว่าการเรียนรู้ คือ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึกทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาติญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฎิกริยาสะท้อน ตามธรรมชาติของมนุษย์ 
     
       สรุปความหมายของการเรียนรู้ การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านสมอง ด้านอารมณ์ ด้านพฤติกรรม ซึ่งการเรียนรู้นั้นมีผลเนื่องมาจากการได้ฝึกทำบ่อยๆจนเกิดประสบการณ์ทำให้บุคคลนั้นเกิดการเผชิญสถานการณ์เดิมๆหรือแตกต่างไปจากเดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านต่างๆ ทั้งจากประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
   
       ที่มา
เสรี วงษ์มณฑา.[online] https://thth.facebook.com/seri.wongmonta/posts/592724210766056
     การเรียนรู้. สืบค้นเมื่อ 18/06/58.

สุรางค์ โค้ว ตระกูล.[online] http://www.slideshare.net/unyaparn/learning-
     12074199.การเรียนรู้.สืบค้นเมื่อ   18/06/ 58.

ประดินันท์ อุปรมัย.(2540).ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษามนุษย์กับการเรียนรู้.
     นนทบุรี:พิมพ์ครั้งที่15 .