วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้


อุษา คงทอง และคณะมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
(http://acad.vru.ac.th/pdf-handbook/Hand_Teacher.pdf.pdfได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
1.วิธีการประเมินผลการเรียนรู้
การประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษาเน้นการประเมินตามสภาพจริง มีวิธีการดังนี้
       1) สังเกตการแสดงออกเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม
       2) ชิ้นงาน ผลงาน รายงาน
       3) การสัมภาษณ์
       4) บันทึกของผู้เรียน
       5) การประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
       6) การวัดและประเมินผลภาคปฏิบัติ (Practical assessment)
       7) การวัดและประเมินผลด้านความสามารถ (Performance assessment)
       8) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้แฟ้มผลงาน (Portfolio assessment)
       9) อื่นๆ
          จะเห็นได้ว่าการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินตามสภาพจริง และควรเข้าใจว่า การประเมินตามสภาพจริงให้ความสำคัญกับการประเมินผลการเรียนรู้ที่ต้องกระทำควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น การประเมินจากการปฏิบัติงานจึงเป็นหัวใจของการประเมินตามสภาพจริง หลักฐานหรือร่องรอยของการปฏิบัติงาน รวมทั้งบันทึกความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ฯลฯ ที่รวบรวมไว้ ซึ่งเรียกว่าแฟ้มผลงาน จึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง
ในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงความสามารถจริงของผู้เรียนนั้น จะเห็นได้ว่าการวัดและประเมินผลภาคปฏิบัติ ด้านความสามารถ และโดยใช้แฟ้มผลงาน มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินต้องมาจากแหล่งที่หลากหลาย เช่น จากผลงานการทำแบบฝึกหัดหรือโครงงาน จากการสังเกต จากการสัมภาษณ์ จากการสอบในลักษณะต่างๆ และจากการบันทึกของผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครอง เป็นต้น
2.ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินผลการเรียนรู้
ผู้มีหน้าที่ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา มีขอบเขตครอบคลุมตัวบุคคลกว้างขวางกว่าการปฏิบัติแต่เดิมที่เน้นให้ผู้สอนเป็นผู้ประเมิน ซึ่งควรประกอบด้วย ตัวผู้เรียน เพื่อนของผู้เรียน ผู้สอนผู้สอน พ่อแม่ผู้ปกครองของผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น บุคคลผู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ วิทยากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้การปฏิบัติงานของผู้เรียน เป็นต้น บุคคลต่างๆ เหล่านี้อาจมีบทบาทและความสำคัญ ในการประเมินตามสภาพจริงแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการเรียนรู้ที่ประเมิน มากน้อยเพียงไร ซึ่งควรพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปจากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษานั้น ให้ความสำคัญกับการประเมินตามสภาพจริงในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะ 3 ด้านอย่างเป็นบูรณาการกัน ทั้งด้านความรู้ความคิด ด้านทักษะกระบวนการและด้านเจตคติ คุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม ภายใต้มาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้นตามธรรมชาติของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการที่เข้าถึง สภาพจริงของการเรียนรู้โดยอาศัยผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมทั้งตัวผู้เรียนเองด้วย และมุ่งใช้ผลของการประเมินเพื่อการพัฒนาและการปรับปรุงผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.วิธีการให้คะแนนในการประเมินตามสภาพจริง
     การประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษาให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการให้คะแนนแบบ รูบริค (Rubric scoring) ซึ่งมีความเป็นปรนัยสูง และใช้ประโยชน์ในด้านการให้ข้อมูลป้อนกลับได้ดี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในการประเมินจะต้องใช้การให้คะแนนแบบรูบริคเสมอไป เนื่องจากในการประเมินบางกรณี เช่น การสอบด้วยข้อสอบแบบปรนัยอาจต้องใช้การให้คะแนนแบบถูกผิดชัดเจน (ระบบ 0-1) การประเมินคุณภาพหรือคุณลักษณะบางอย่างอาจใช้มาตรประมาณค่า (Rating scales) เป็นต้น วิธีการให้คะแนนแบบต่างๆ มีดังนี้
 1. การให้คะแนนแบบไม่ชัดเจน (ตามใจผู้ประเมิน) เช่น ในการตรวจให้คะแนนโครงงาน หรือเรียงความหรือชิ้นงานหรือรายงานหรือข้อสอบอัตนัย ฯลฯ ถ้ากำหนดคะแนนเต็มเป็น 10 คะแนน ผู้ตรวจอาจใช้เกณฑ์ในใจซึ่งเป็นไปตามอคติของผู้ตรวจ ตัดสินให้คะแนนตามที่เห็นสมควรเป็น 0, 5, 8 คะแนน เป็นต้น จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความลำเอียงได้ง่ายการให้คะแนนเช่นนี้เป็นการยากต่อการแปลความหมายหรือกล่าวได้ว่า ขาดความเป็นปรนัย(Objectivity) เป็นอย่างยิ่ง
 2. การให้คะแนนแบบถูกผิดชัดเจน เช่น ในการตรวจข้อสอบแบบปรนัย เมื่อตอบถูกตามเฉลยก็ได้คะแนนเต็ม แต่เมื่อตอบผิดก็ไม่ได้คะแนนดังที่ใช้ในการตรวจข้อสอบแบบถูกผิดแบบจับคู่ หรือแบบตัวเลือก เป็นต้น
 3. การให้คะแนนแบบมาตรประมาณค่า (Rating scales) เป็นการให้คะแนนตามช่วงของความถูกต้องของคำตอบ หรือการแสดงพฤติกรรม หรือคุณภาพของชิ้นงาน เช่นในมาตรประมาณค่า 5 ช่วง หรือ 3 ช่วง ฯลฯ เมื่อตอบถูกมากที่สุดหรือแสดงพฤติกรรมบ่อยที่สุดหรือชิ้นงานมีคุณภาพมากที่สุดจะได้ 5 คะแนน หรือ 3 คะแนน ลดหลั่นลงไปตามลำดับจนถึงคะแนนเมื่อตอบถูกต้องน้อยที่สุด หรือแสดงพฤติกรรมน้อยที่สุด หรืองานมีคุณภาพน้อยที่สุดเป็นต้น การให้คะแนนวิธีนี้มีความเป็นปรนัยมากขึ้นแต่ยังไม่สมบูรณ์ที่จะให้ข้อมูลป้อนกลับในเชิง “คุณภาพ” ว่าส่วนที่บกพร่องไปนั้นคืออะไร
  4. การให้คะแนนแบบรูบริค (Rubric) รูบริค หรือเกณฑ์ระดับความสามารถเป็นสิ่งที่ผู้สอนและผู้เรียนตกลงร่วมกันว่าจะใช้ในการประเมินกิจกรรมหรืองานต่างๆ ที่ผู้เรียนสร้างขึ้น เป็นข้อตกลงที่ผู้เรียนรู้ว่า นี่คือเป้าหมาย หรือจุดหมายของการปฏิบัติงานนั้น รูบริคเป็นวิธีการให้คะแนนที่ใช้หลักการของมาตรประมาณค่าประกอบกับการพรรณนาคุณภาพกล่าวคือ แทนที่จะใช้ตัวเลข เช่น 5-4-3-2-1 หรือ 3-2-1 ฯลฯ (โดยมีการแปลความหมายกำกับด้วย) อย่างลอยๆ ก็มีการเพิ่มข้อมูลรายละเอียดว่าคะแนนที่ได้ลดหลั่นลงไปมีความบกพร่องที่บ่งชี้เป็นข้อมูลเชิง “คุณภาพ” ว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ผนวกอยู่กับข้อมูลเชิงปริมาณในการให้คะแนนแบบรูบริคนี้ มีประโยชน์ในการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้ถูกประเมิน ซึ่งเป็นการตอบสนองหลักการของการประเมินผลเพื่อการปรับปรุง
     นอกเหนือจากการให้คะแนนด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวแล้ว ในการประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา ผู้สอนอาจใช้ข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ เช่น ข้อมูลจากบันทึกต่างๆรวมทั้งหลักฐานหรือร่องรอยจากการเรียนอื่นๆ ซึ่งเมื่อต้องการประเมินคุณค่าก็สามารถแปลเป็นคะแนนได้ในภายหลัง
4.แนวทางการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค
   การให้คะแนนแบบรูบริคเป็นนวัตกรรมการประเมินผลการเรียนรู้ที่สำคัญ เนื่องจากมีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนไว้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ผู้ประเมินแต่ละคนสามารถให้คะแนนได้ตรงกันหรือสอดคล้องกันมาก จึงมีความเป็นปรนัยสูงในการตรวจให้คะแนน นอกจากนี้ผลของการประเมินแบบรูบริคจะเป็นข้อมูลป้อนกลับที่มีประโยชน์มาก สำหรับผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของการประเมินผล เพื่อการปรับปรุง และเพื่อการติดตามพัฒนาการ ปัญหาสำคัญของการให้คะแนนแบบรูบริคคือการสร้างเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของคุณภาพด้านความตรง (Validity) ของการประเมิน
5.ขั้นตอนในการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค
  การสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริค ต้องคำนึงถึงงานที่กำหนดให้ผู้เรียนกระทำว่าต้องมีความสำคัญ มีความสอดคล้องระหว่างคะแนนกับจุดมุ่งหมายการประเมิน เกณฑ์ที่สร้างต้องเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน เหมาะสมกับระดับชั้นและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างเกณฑ์การประเมินด้วย ในการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคนั้นมีแนวคิดและขั้นตอนดังนี้
   1. กำหนดประเด็นในการประเมิน โดยเขียนนิยามปฏิบัติการและความหมายให้ชัดเจน ทั้งนี้ในการกำหนดประเด็นในการประเมินนั้น หากมีการกำหนดองค์ประกอบของงานหรือพฤติกรรมที่มีเป้าหมายของการประเมินไว้แล้วก็ควรใช้องค์ประกอบเหล่านั้นมาใช้เป็นประเด็นในการประเมิน หรืออาจนำ คุณภาพหรือปริมาณ ของ งานหรือพฤติกรรม มาใช้เป็นประเด็นในการประเมินก็ได้
  2. กำหนดจำนวนระดับ ซึ่งอาจเป็น 5 ระดับหรือ 3 ระดับ แล้วแต่ความเหมาะสมหรืออาจใช้จำนวนระดับเท่ากับระดับผลการเรียนที่กำหนดคือ 4 ระดับ (จาก 1-4 และอาจกำหนดระดับศูนย์ในกรณีที่ไม่ส่งงานหรือทำไม่ถูกเลย)
  3. พิจารณาให้ระดับ 3 เป็นเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร คือสามารถทำได้ตามระดับที่ยอมรับได้ เทียบเท่ากับการปฏิบัติได้เองโดยไม่ต้องช่วยเหลือ
  4. พิจารณาให้ระดับ 2 เป็นเกณฑ์ที่ “เกือบผ่าน” คือจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกเล็กน้อยจึงจะใช้ได้
  5. พิจารณาให้ระดับ 4 เป็นเกณฑ์ที่มีคุณภาพสูงกว่าระดับ 3
  6. พิจารณาให้ระดับ 1 เป็นเกณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าระดับ 2 ซึ่งนับว่าอ่อนมากผู้สอนอาจต้องสอนใหม่ ให้งานทำใหม่ (พร้อมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือ)
   7. ทดลองใช้และประเมินความเชื่อมั่นของรูบริค โดยใช้ผู้ประเมิน 2 คนหรือคนเดียวประเมิน 2 ครั้ง แล้วหาความสอดคล้องของเกณฑ์สำหรับแนวทางในการเขียนระดับต่างๆนั้น จะต้องพิจารณาตามประเด็นที่กำหนดทั้งหมดว่าประเด็นใดสำคัญที่สุดและรองลงมา ทั้งนี้ในระดับ 4 นั้นต้องถูกต้องทุกประเด็น ระดับ 3 อาจบกพร่องในประเด็นที่ไม่สำคัญ และระดับ 2 กับ 1 ก็ลดหลั่นกันลงมา ซึ่งมีวิธีการเขียน พอสังเขปดังนี้
วิธีที่ 1 แยกประเด็นพิจารณาออกเป็นประเด็นย่อย แล้วกำหนดเป็นตารางพิจารณาความถูกต้องในแต่ละประเด็น กำหนดระดับคะแนนตามจำนวนที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง
วิธีที่ 2 กำหนดตามระดับความผิดพลาด โดยพิจารณาความบกพร่องจากคำตอบว่ามีมากน้อยเพียงใด แล้วหักจากระดับคะแนนสูงสุดลงมาทีละระดับ โดยเน้นความสามารถในการคิดแก้ปัญหาระดับสูงหรือประยุกต์ความรู้
วิธีที่ 3 กำหนดระดับการยอมรับและคำอธิบาย
วิธีที่ 4 กำหนดตามจำนวนครั้งของการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ หรือจำนวนครั้งของความผิดการนับจำนวนจะเหมะกับเกณฑ์การประเมินที่เน้นปริมาณ
6.การประเมิน/ตัดสินผลการเรียน
   การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสัมฤทธิผลตามหลักสูตรดังนั้น การจัดการเรียนรู้ทุกวิชาตามหลักสูตร มีความหมายและมีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนทั้งสิ้น และเพื่อให้รู้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือมีพัฒนาการอย่างไร ในวิชาต่างๆจำเป็นต้องมีการประเมิน และการประเมินในที่นี้ มิได้หมายถึงการจัดสอบด้วยข้อสอบเขียนตอบในกระดาษคำตอบเท่านั้น แต่วิธีการประเมินจะครอบคลุมถึง การตรวจแบบฝึกหัดผลงาน โครงงาน โครงการ แฟ้มสะสมงาน การประเมินการปฏิบัติ การวิเคราะห์บันทึกเหตุการณ์ การสังเกต สัมภาษณ์ต่างๆ เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาการเรียนของผู้เรียนและเพื่อการตัดสินผลการเรียน
              ผู้ประเมินไม่ควรมองการวัดและประเมินผล แยกส่วนจากการจัดการเรียนรู้การประเมินต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ การประเมินมีหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถประเมินกระบวนการและผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังเน้นการแก้ปัญหาในวิถีชีวิตที่เป็นจริงวิธีการประเมินจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การประเมินที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียนได้ จะต้อง ไม่อยู่กับที่ หรือทำ ณ เวลาใด เวลาหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลมาพัฒนา/กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา สู่จุดที่เป็นความคาดหวัง โดยจะมีการประเมินสรุปเมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ระดับใด
               ซึ่ง การประเมินอย่างต่อเนื่องนั้น เป้าหมายมิใช่เพื่อการเก็บคะแนน แต่เพื่อการนำผลมาปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากจะมีการนำผลการประเมินระหว่างเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน ก็สามารถกระทำได้หากผู้ประเมินมีความเชื่อว่าผลการประเมินนั้น เป็นสิ่งสะท้อนความสำเร็จในส่วนนั้นได้
              ในการประเมินตามสภาพจริงต้องมีการประเมินทุกระยะ ประเมินรอบด้าน 360 องศา
ประเมินอย่างต่อเนื่อง ผู้สอนจะต้องสรุปผลการประเมินผู้เรียนจากข้อมูลรายละเอียดที่ได้จาก
การประเมินทั้งหลายในที่นี้จะกล่าวถึงการประเมินงานแต่ละชิ้น และการประเมินผลรวมในรายวิชา
หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้
         1. การประเมินงานแต่ละชิ้น เช่น ชิ้นงาน หรือโครงงาน
         ในการประเมินชิ้นงานหรือโครงงานควรกำหนดระยะเวลาในการประเมินเป็นช่วงไว้อย่างน้อย 3 ช่วงคือ ขั้นของการวางแผน ขั้นปฏิบัติ และขั้นเสนอผลงาน ในแต่ละช่วงของการดำเนินงาน ผู้สอนจะต้องคอยดูแล ให้คำปรึกษา และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เมื่อตรวจแผนแล้วถ้าแผนยังบกพร่องจะต้องแก้ไขก่อนให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
         2. การประเมินผลรวมทั้งรายวิชาตลอดภาคเรียน
           เมื่อผลการประเมินย่อยแต่ละครั้งอยู่ในรูปของระดับตาม rubric ที่มีระดับเท่ากันหมดการพิจารณาระดับผลการเรียน (Grade) ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงเอาน้ำหนักที่กำหนดไว้มาคูณกับผลการประเมินแต่ละส่วนแล้วหารด้วยจำนวนน้ำหนักที่กำหนด
            สถานศึกษามีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวัง กรณีผู้เรียนมีปัญหาด้านการเรียน จนเป็นเหตุให้ได้ระดับผลการเรียน “0”ซึ่งถือว่าไม่ผ่านหรือมีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ ผู้สอนจะต้องหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข ซึ่งหลักการของการประเมินเพื่อปรับปรุงพัฒนานั้นกระบวนการประเมินจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ เมื่อทราบว่าผู้เรียนมีข้อบกพร่องตรงจุดไหนผู้เรียนจะต้องได้รับการแก้ไขทันที เพื่อให้สามารถเรียนต่อไปได้
7.การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assesment)
       7.1ความหมาย
              การประเมินสภาพจริงเป็นการประเมินจากการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยงานหรือกิจกรรมที่มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติ จะเป็นงานหรือสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง จึงเป็นงานที่มีสถานการณ์ซับซ้อนและเป็นองค์รวมมากกว่างานปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนทั่วไป
       7.2แนวคิดและหลักการของการประเมินผลตามสภาพจริง
              1. ไม่เน้นการประเมินทักษะพื้นฐานแต่เน้นการประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงาน ความร่วมมือ ในการแก้ปัญหา และการประเมินตนเองทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน
              2. เป็นการวัดและประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน
              3. เป็นการสะท้อนให้เห็นการสังเกตสภาพงานปัจจุบัน ของผู้เรียน และสิ่งที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง
              4. เป็นการให้ความสำคัญกับงานที่เป็นจริงโดยพิจารณาจากงานหลายๆ ชิ้น
              5. ผู้ประเมินควรมีหลายคน มีการประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
              6. การประเมินต้องดำเนินการไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
              7. นำการประเมินตนเองมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตามสภาพที่แท้จริง
              8. ควรมีการประเมินทั้ง การประเมินที่เน้นการปฏิบัติจริง และการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน
       7.3ลักษณะสำคัญของการวัดและการประเมินผลจากสภาพจริง
              1. ใช้วิธีการประเมินกระบวนการคิดที่ซับซ้อน ความสามารถในการปฏิบัติงานศักยภาพของผู้เรียน มากกว่าที่จะประเมินว่าผู้เรียนสามารถจดจำความรู้อะไรได้บ้าง
              2. เป็นการประเมินความสามารถของผู้เรียน เพื่อวินิจฉัยผู้เรียนในส่วนที่ควรส่งเสริมและส่วนที่ควรแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามความสามารถความสนใจและความต้องการของแต่ละบุคคล
               3. เป็นการประเมินที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมประเมินผลงานของทั้งตนเองและของเพื่อนร่วมห้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตัวเอง เชื่อมั่นตนเอง สามารถพัฒนาข้อมูลได้
               4. ข้อมูลที่ประเมินได้จะต้องสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้และการวางแผนการจัดการเรียนรู้ ว่าสามารถตอบสนองความสามารถ ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียนแต่ละบุคคลได้หรือไม่
               5. ประเมินความสามารถของผู้เรียนในการถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่ชีวิตจริงได้
               6. ประเมินด้านต่างๆ ด้วยวิธีที่หลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
       7.4ขั้นตอนการประเมินตามสภาพจริง
               1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน ต้องสอดคล้องกับสาระมาตรฐานจุดประสงค์การเรียนรู้และสะท้อนการพัฒนาด้วย
               2. กำหนดขอบเขตในการประเมิน ต้องพิจารณาเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนเช่น ความรู้ ทักษะและกระบวนการ ความรู้สึก คุณลักษณะ เป็นต้น
               3. กำหนดผู้ประเมิน โดยพิจารณาผู้ประเมินว่าจะมีใครบ้าง เช่น ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อนผู้เรียน ผู้สอนผู้สอน ผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
               4. เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมิน ควรมีความหลากหลายและเหมาะสม กับวัตถุประสงค์ วิธีการประเมิน เช่น การทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึกพฤติกรรมแบบสำรวจความคิดเห็น บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แฟ้มสะสมงาน ฯลฯ
               5. กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างผู้เรียนทำกิจกรรมระหว่างทำงานกลุ่ม/โครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เวลาว่าง/พักกลางวัน ฯลฯ
               6. วิเคราะห์ผลและวิธีการจัดการข้อมูลการประเมิน เป็นการนำข้อมูลจากการประเมินมาวิเคราะห์โดยระบุสิ่งที่วิเคราะห์ เช่น กระบวนการทำงาน เอกสารจากแฟ้มสะสมงาน ฯลฯรวมทั้งระบุวิธีการบันทึกข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
               7. กำหนดเกณฑ์ในการประเมิน เป็นการกำหนดรายละเอียดในการให้คะแนนผลงานว่าผู้เรียนทำอะไร ได้สำเร็จหรือว่ามีระดับความสำเร็จในระดับใด คือ มีผลงานเป็นอย่างไรการให้คะแนนอาจจะให้ในภากพรวมหรือแยกเป็นรายให้สอดคล้องกับงานและจุดประสงค์การเรียนรู้
          อาจกล่าวสรุปได้ว่าการประเมินตามสภาพจริงเป็นขั้นตอนที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนด ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการโดยวิเคราะห์จากหลักสูตร และความต้องการของผู้เรียนมีแนวทางของงานที่ปฏิบัติ กำหนดกรอบและวิธีการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน
       7.5เทคนิค/วิธีการที่ใช้ในการประเมินตามสภาพจริง
              การประเมินตามสภาพจริงเป็นการกระทำ การแสดงออกหลายๆ ด้าน ของผู้เรียนตามสภาพความเป็นจริงทั้งในและนอกห้องเรียน มีวิธีการประเมินโดยสังเขปดังนี้
             1. การสังเกต เป็นวิธีการที่ดีมากวิธีหนึ่งในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านการใช้ความคิด การปฏิบัติงาน และโดยเฉพาะด้านอารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะนิสัยสามารถทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน หรือในสถานการณ์อื่นนอกสถานศึกษาเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ประกอบการสังเกต ได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ แบบมาตราส่วนประมาณค่า แบบบันทึกระเบียนสะสม เป็นต้น
              2. การสัมภาษณ์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมด้านต่างได้ดี เช่น ความคิด(สติปัญญา) ความรู้สึก กระบวนการขั้นตอนในการทำงาน วิธีแก้ปัญหา ฯลฯ อาจใช้ประกอบการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มั่นใจมากยิ่งขึ้น
              ก่อนสัมภาษณ์ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้เรียนก่อนเพื่อทำให้การสัมภาษณ์ตรงประเด็นและได้ข้อมูลยิ่งขึ้น ควรเตรียมชุดคำถามล่วงหน้าและจัดลำดับคำถามช่วยให้การตอบไม่วกวนขณะสัมภาษณ์ผู้สอนใช้วาจา ท่าทาง น้ำเสียงที่อบอุ่นเป็นกันเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกปลอดภัยและแนวโน้มให้ผู้เรียนอยากพูด/เล่า ใช้คำภามที่ผู้เรียนเข้าใจง่ายและผู้สอนอาจใช้วิธีสัมภาษณ์ทางอ้อมคือ สัมภาษณ์จากบุคคลที่ใกล้ชิดผู้เรียน เช่น เพื่อนสนิท ผู้ปกครอง เป็นต้น
               3. การตรวจงาน เป็นการวัดและประเมินผลที่เน้นการนำผลการประเมินไปใช้ทันทีใน 2 ลักษณะ คือ เพื่อการช่วยเหลือผู้เรียนและเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน จึงเป็นการประเมินที่ควรดำเนินการตลอดเวลา เช่น การตรวจแบบฝึกหัด ผลงานภาคปฏิบัติ โครงการ/โครงงานต่างๆ เป็นต้น งานเหล่านี้ควรมีลักษณะที่ผู้สอนสามารถประเมินพฤติกรรมระดับสูงของผู้เรียนได้ เช่น แบบฝึกหัดที่เน้นการเขียนตอบ เรียบเรียง สร้างสรรค์ งาน โครงการ โครงงานที่เน้นความคิดขั้นสูงในการวางแผนจัดการ ดำเนินการและแก้ปัญหาสิ่งที่ควรประเมินควบคู่ไปด้วยเสมอในการตรวจงาน คือ ลักษณะนิสัยและคุณลักษณะที่ดีในการทำงาน ซึ่งผู้สอนควรมีความยืดหยุ่นการประเมิน จากการตรวจงานมากขึ้น ดังนี้
                       (1) ไม่จำเป็นต้องนำชิ้นงานทุกชิ้นมาประเมิน อาจเลือกเฉพาะชิ้นงานที่ผู้เรียนทำได้ดีและบอกความหมาย/ความสามารถของผู้เรียนตามลักษณะที่ผู้สอนต้องการประเมินได้วิธีนี้เป็นการเน้น “จุดแข็ง” ของผู้เรียน นับเป็นการเสริมแรง สร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนพยายามผลิตงานที่ดีๆ ออกมามากขึ้น
                       (2) จากแนวคิดตามข้อ 1 ชิ้นงานที่หยิบมาประเมินของแต่ละคน จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ผู้เรียนคนที่ 1 งานที่ (ทำได้ดี) ควรหยิบมาประเมินอาจเป็นงานชิ้นที่ 2,3, 5 ส่วนผู้เรียนคนที่ 2 งานที่ควรหยิบมาประเมินอาจเป็นงานชิ้นที่ 1, 2 ,4 เป็นต้น
                       (3) อาจประเมินชิ้นงานที่ผู้เรียนทำนอกเหนือจากที่ผู้สอนกำหนดให้ก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ผู้เรียนทำเองจริงๆ เช่น สิ่งประดิษฐ์ที่ผู้เรียนทำเองที่บ้าน และนำมาใช้ที่สถานศึกษาหรืองานเลือกต่างๆ ที่ผู้เรียนทำขึ้นเองตามความสนใจ เป็นต้น การใช้ข้อมูล/หลักฐานผลงานอย่างกว้างขวาง จะทำให้ผู้สอนรู้จักผู้เรียนมากขึ้น และประเมินความสามารถของผู้เรียนตามสภาพที่แท้จริงของเขาได้แม่นยำยิ่งขึ้น
                       (4) ผลการประเมิน ไม่ควรบอกเป็นคะแนนหรือระดับคุณภาพ ที่เป็นเฉพาะตัวเลขอย่างเดียว แต่ควรบอกความหมายของผลคะแนนนั้นด้วย
                4. การรายงานตนเอง เป็นการให้ผู้เรียนเขียนบรรยายหรือตอบคำถามสั้นๆ หรือตอบแบบสอบถามที่ผู้สอนสร้างขึ้น เพื่อสะท้อนถึงการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งความรู้ ความเข้าใจวิธีคิด วิธีทำงานความพอใจในผลงาน ความต้องการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น
                5. การใช้บันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียนผลงานผู้เรียน โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนจากแหล่งต่างๆเช่น จากเพื่อนผู้สอน-โดยประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนจากเพื่อนผู้เรียน-โดยจัดชั่วโมงสนทนา วิพากษ์ผลงาน (ผู้เรียนต้องได้รับคำแนะนำมาก่อนเกี่ยวกับหลักการ วิธีวิจารณ์เพื่อการสร้างสรรค์)จากผู้ปกครอง-โดยจดหมาย/สารสัมพันธ์ที่ผู้สอน หรือสถานศึกษากับผู้ปกครองมีถึงกันโดยตลอดเวลา โดยการประชุมผู้ปกครองที่สถานศึกษาจัดขึ้น หรือโดยการตอบแบบสอบถามสั้นๆ
                6. การใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง ในกรณีที่ผู้สอนต้องการใช้แบบทดสอบขอเสนอแนะให้ใช้แบบทดสอบภาคปฏิบัติที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
                      1) ปัญหาต้องมีความหมายต่อผู้เรียน และมีความสำคัญเพียงพอที่จะแสดงถึงภูมิความรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นนั้นๆ
                      2) เป็นปัญหาที่เลียนแบบสภาพจริงในชีวิตของผู้เรียน
                      3) แบบสอบต้องครอบคลุมทั้งความสามารถและเนื้อหาตามหลักสูตร
                      4) ผู้เรียนต้องใช้ความรู้ความสามารถ ความคิดหลายๆ ด้านมาผสมผสาน และแสดงวิธีคิดได้เป็นขั้นตอนที่ชัดเจน
                      5) ควรมีคำตอบถูกได้หลายคำตอบ และมีวิธีการหาคำตอบได้หลายวิธี
                      6) มีเกณฑ์การให้คะแนนตามความสมบูรณ์ของคำตอบอย่างชัดเจน
                 7. การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน แฟ้มสะสมงานหมายถึง สิ่งที่ใช้สะสมงานของผู้เรียนอย่างมีจุดประสงค์ อาจเป็นแฟ้ม กล่อง แผ่นดิสก์ อัลบั้ม ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึง ความพยายาม ความก้าวหน้า และผลสัมฤทธิ์ในเรื่องนั้นๆ หรือหลายๆ เรื่อง การสะสมนั้นผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกเนื้อหา เกณฑ์การเลือก เกณฑ์การตัดสิน ความสามารถ/คุณสมบัติ หลักฐานการสะท้อนตนเอง
              การประเมินผลโดยใช้แฟ้มสะสมงานเป็นวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริงที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายวิธีหนึ่ง เพราะใช้การประเมินให้ผูกติดอยู่กับการจัดการเรียนรู้และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจนและ การที่จะได้มา ซึ่งผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน ผู้สอนควรใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้านและมีจำ นวนมากเพียงพอที่จะประเมินผลที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอย่างมั่นใจหลักเกณฑ์การให้คะแนนตามแนวทางการประเมินตามสภาพจริง


ทิวัตถ์  มณีโชติ (http://ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.docได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า การประเมิน เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด คือ นำตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดมาตีค่าอย่างมีเหตุผล โดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น โรงเรียนกำหนดคะแนนที่น่าพอใจของวิชาคณิตศาสตร์ไว้ที่ร้อยละ 60 นักเรียนที่สอบได้คะแนนตั้งแต่ 60 % ขึ้นไป ถือว่าผ่านเกณฑ์ที่น่าพอใจ  หรืออาจจะกำหนดเกณฑ์ไว้หลายระดับ  เช่น ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 40  อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุง  ร้อยละ 40-59 อยู่ในเกณฑ์พอใช้  ร้อยละ 60-79 อยู่ในเกณฑ์ดี และร้อยละ 80 ขึ้นไป  อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นต้น  ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นการประเมิน
การประเมินผล  มีความหมายเช่นเดียวกับการประเมิน  แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัดผลสำหรับภาษาอังกฤษมีหลายคำ ที่ใช้มากมี 2 คำ คือ evaluation  และ  assessment 2 คำนี้มีความหมายต่างกัน  คือ
evaluation  เป็นการประเมินตัดสิน  มีการกำหนดเกณฑ์ชัดเจน (absolute criteria)  เช่น ได้คะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป ตัดสินว่าอยู่ในระดับดี  ได้คะแนนร้อยละ 60 – 79  ตัดสินว่าอยู่ในระดับพอใช้  ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 60  ตัดสินว่าอยู่ในระดับควรปรับปรุง  evaluation  จะใช้กับการประเมินการดำเนินงานทั่วๆ ไป  เช่น  การประเมินโครงการ (Project Evaluation)  การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
assessment  เป็นการประเมินเชิงเปรียบเทียบ  ใช้เกณฑ์เชิงสัมพันธ์ (relative criteria) เช่น เทียบกับผลการประเมินครั้งก่อน  เทียบกับเพื่อนหรือกลุ่มใกล้เคียงกัน assessment  มักใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การประเมินตนเอง  (Self Assessment)
ลักษณะการประเมินทางการศึกษา
การประเมินทางการศึกษามีลักษณะ ดังนี้
1. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนหรือกระบวนการจัดการเรียนรู้  ซึ่งควรทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. เป็นการประเมินคุณลักษณะหรือพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าบรรลุตามจุดประสงค์หรือไม่
3. เป็นการประเมินในภาพรวมทั้งหมดของผู้เรียน โดยการรวบรวมข้อมูลและประมวลจากตัวเลขจากการวัดหลายวิธีและหลายแหล่ง
             4. เป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับบุคลหลายกลุ่ม  ทั้งครู  นักเรียน  ผู้ปกครองนักเรียน  ผู้บริหารโรงเรียน และอาจรวมถึงคณะกรรมการต่างๆ ของโรงเรียน
 หลักการประเมินทางการศึกษา
หลักการประเมินทางการศึกษาโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ขอบเขตการประเมินต้องตรงและครอบคลุมหลักสูตร
2. ใช้ข้อมูลจากผลการวัดที่ครอบคลุม  จากการวัดหลายแหล่ง  หลายวิธี
3. เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการประเมินมีความชัดเจน  เป็นไปได้  มีความยุติธรรม  ตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ขั้นตอนในการประเมินทางการศึกษา
การประเมินทางการศึกษามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดจุดประสงค์การประเมิน   โดยให้สอดคล้องและครอบคลุมจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. กำหนดเกณฑ์เพื่อตีค่าข้อมูลที่ได้จาการวัด
3. รวบรวมข้อมูลจากการวัดหลายๆ แหล่ง
4. ประมวลและผสมผสานข้อมูลต่างๆ ของทุกรายการที่วัดได้
5. วินิจฉัยชี้บ่งและตัดสินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ประเภทของการประเมินทางการศึกษาการประเมินแบ่งได้หลายประเภท  ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง  ดังนี้
1. แบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน
การแบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้ดังนี้
1.1 การประเมินก่อนเรียน  หรือก่อนการจัดการเรียนรู้  หรือการประเมินพื้นฐาน (Basic Evaluation)เป็นการประเมินก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอนของแต่ละบทเรียนหรือแต่ละหน่วย  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.1.1 การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง (Placement Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาดูว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนอยู้ในระดับใดของกลุ่ม  ประโยชน์ของการประเมินประเภทนี้  คือ ครูใช้ผลการประเมินเพื่อกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน  ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนน้อยคืออยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ควรได้รับการเพิ่มพูนเนื้อหาสาระนั้นมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในลำดับต้นๆ คือ กลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนมากกว่า  หรือกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานในสาระที่จะเรียนดีกว่า  และแต่ละกลุ่มควรใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
1.1.2 การประเมินเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนการเรียนการสอนอีกเช่นกัน  แต่เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาแยกแยะว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนรู้มากน้อยเพียงใด  มีพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนในเรื่องที่จะสอนหรือไม่  จุดใดสมบูรณ์แล้ว  จุดใดยังบกพร่องอยู่  จำเป็นต้องได้รับการสอนเสริมให้มีพื้นฐานที่เพียงพอเสียก่อนจึงจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาในหน่วยการเรียนต่อไป  และจากพื้นฐานที่ผู้เรียนมีอยู่ควรใช้รูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร
             ทั้งการประเมินเพื่อจัดตำแหน่งและการประเมินเพื่อวินิจฉัยมีจุดประสงค์เหมือนกันคือเพื่อทราบพื้นฐานความรู้ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะจัดการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้นั้นๆ  แต่การประเมิน 2 ประเภทดังกล่าวมีความแตกต่างกัน คือ การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาในภาพรวม  ใช้เครื่องมือไม่ละเอียดหรือจำนวนข้อคำถามไม่มาก  แต่การประเมินเพื่อวินิจฉัยเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างละเอียด  แยกแยะเนื้อหาเป็นตอนๆ เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานของเนื้อหาแต่ละตอนมากน้อยเพียงใด  จุดใดบกพร่องบ้าง  ดังนั้นจำนวนข้อคำถามมีมากกว่า
1.2 การประเมินเพื่อพัฒนา หรือการประเมินย่อย (Formative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ การประเมินประเภทนี้ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน  เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนหรือไม่  หากผู้เรียนไม่ผ่านจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนก็จะหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผลการประเมินยังเป็นการตรวจสอบครูผู้สอนเองว่าเป็นอย่างไร แผนการเรียนรู้รายครั้งที่เตรียมมาดีหรือไม่ ควรปรับปรุงอย่างไร  กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างไร มีจุดใดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป
              การประเมินประเภทนี้  นอกจากจะใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว ผลการประเมินยังใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาด้วย กล่าวคือ หากพบว่าเนื้อหาสาระใดที่ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  โดยที่ผู้สอนได้พยายามปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่กับผู้เรียนหลายกลุ่มแล้วยังได้ผลเป็นอย่างเดิม แสดงว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังนั้นสูงเกินไปหรือไม่เหมาะกับผู้เรียนในชั้นเรียนระดับนี้ หรือเนื้อหาอาจจะยากหรือซับซ้อนเกินไปที่จะบรรจุในหลักสูตรระดับนี้ ควรบรรจุในชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะเห็นว่าผลจากการประเมินจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาด้วย
               1.3 การประเมินเพื่อตัดสินหรือการประเมินผลรวม (Summative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินหลังจากผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว อาจเป็นการประเมินหลังจบหน่วยการเรียนรู้หน่วยใดหน่วยหนึ่ง   หรือหลายหน่วย  รวมทั้งการประเมินปลายภาคเรียนหรือปลายปี ผลจากการประเมินประเภทนี้ใช้ในการตัดสินผลการจัดการเรียนการสอน หรือตัดสินใจว่าผู้เรียนคนใดควรจะได้รับระดับคะแนนใด
 2. แบ่งตามการอ้างอิง
การแบ่งประเภทของการประเมินตามการอ้างอิงหรือตามระบบของการวัด  แบ่งออกเป็น
2.1 การประเมินแบบอิงตน (Self-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อนำผลจากการเรียนรู้มาเปรียบเทียบกับความสามารถของตนเอง เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงตนเอง  (Self Assessment) เช่น ประเมินโดยการเปรียบเทียบผลการทดสอบก่อนเรียนกับทดสอบหลังเรียนของตนเอง การประเมินแบบนี้ ควรจะใช้แบบทดสอบคู่ขนานหรือแบบทดสอบเทียบเคียง (Equivalence Test) เพื่อเปรียบเทียบกันได้                    2.2 การประเมินแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาว่าผู้ได้รับการประเมินแต่ละคนมีความสามารถมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ถูกวัดด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกัน การประเมินประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของกลุ่มเป็นสำคัญ นิยมใช้ในการจัดตำแหน่งผู้ถูกประเมิน หรือใช้เพื่อคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อ             2.3 การประเมินแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation) เป็นการนำผลการสอบที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ความสำคัญอยู่ที่เกณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถของกลุ่ม ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ได้แก่ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้
3. แบ่งตามผู้ประเมิน
การแบ่งประเภทของการประเมินตามกลุ่มผู้ประเมิน (Evaluator) แบ่งออกเป็น
             3.1 การประเมินตนเอง (Self Assessment) หรือการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เป็นการประเมินลักษณะเดียวกับการประเมินแบบอิงตน คือ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาหรือปรับปรุงตนเอง  การประเมินประเภทนี้สามารถประเมินได้ทุกกลุ่ม  ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง  ครูประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนของตนเอง นอกจากประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว  สามารถประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงได้ทุกเรื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาประเมินเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยอาจจะประเมินด้วยตนเอง หรือมีคณะประเมินของสถานศึกษา เรียกว่า การประเมินภายใน (Internal Evaluation)หรือการศึกษาตนเอง (Self Study) โดยอาจจะประเมินโดยรวม  หรือแบ่งประเมินเป็นส่วนๆ  เป็นด้านๆ  ลักษณะการประเมินอาจจะมีคณะเดียวประเมินทุกส่วน หรือจะให้แต่ละส่วนประเมินตนเองหรือภายในส่วนของตนเอง เช่น แต่ละระดับชั้นเรียน  แต่ละหมวดวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้  แต่ละฝ่าย อาทิ ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น  เพื่อให้แต่ละส่วนมีการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของตนเอง และอาจจะรวบรวมผลการประเมินแต่ละส่วนเพื่อจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Study Report : SSR หรือSelf Assessment Report : SAR)
3.2 การประเมินโดยผู้อื่นหรือการประเมินภายนอก (External Evaluation)  สืบเนื่องจากการประเมินตนเองหรือการประเมินภายในซึ่งมีความสำคัญมากในการพัฒนาปรับปรุง  แต่การประเมินภายในมีจุดอ่อนคือความน่าเชื่อถือ   โดยบุคคลภายนอกมักคิดว่าการประเมินภายในนั้น มีความลำเอียง ผู้ประเมินตนเองมักจะเข้าข้างตนเอง  ดังนั้นจึงมีการประเมินโดยผู้อื่นหรือประเมินโดยผู้ประเมินภายนอก เพื่อยืนยันการประเมินภายใน  และอาจจะมีจุดอ่อนหรือจุดที่ควรได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นในทรรศนะของผู้ประเมินในฐานะที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ดี  การประเมินภายนอกก็มีจุดบกพร่องในเรื่องการรู้รายละเอียดและถูกต้องของสิงที่จะประเมิน  และจุดบกพร่องอีกประการหนึ่งคือเจตคติของผู้ถูกประเมิน ถ้ารู้สึกว่าถูกจับผิดก็จะต่อต้าน  ไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่ยอมรับผลการประเมิน  ทำให้การประเมินดำเนินไปด้วยความยากลำบาก  ดังนั้นการประเมินภายนอกควรมาจากความต้องการของผู้ถูกประเมิน เช่น ครูผู้สอนให้ผู้เรียน  ผู้ปกครอง  หรือเพื่อนครูประเมินการสอนของตนเอง  สถานศึกษาให้ผู้ปกครองหรือนักประเมินมืออาชีพ (ภายนอก) ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202กล่าวถึง ความหมายของการวัดผล (measurement) การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น
 ความหมายของการประเมินผล (evaluation)
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
          ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
           การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
  5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร 
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก
         
สรุป การประเมินผลการเรียนรู้เป็นวิธีการให้คะแนนตามแนวประเมินตามสภาพจริง เน้นที่การให้ข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความรอบรู้ของผู้เรียนว่ามีลักษณะอย่างไรและความสำเร็จหรือความรอบรู้ในระดับที่แตกต่างกันนั้น มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ให้ความหมายเพียงแค่การได้/ตก หรือ ผ่าน/ไม่ผ่าน หรือระดับของการผ่านเท่านั้น นอกจากนี้การนำผลประเมินไปใช้ประโยชน์ด้านการตัดสินผลการเรียนก็มีความสำคัญเป็นอันดับรองจากการนำไปใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนและตัวผู้สอน
        การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติ ถ้าสามารถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริงจะดีมาก แต่ถ้าไม่ได้อาจใช้สถานการณ์จำลองที่พยายามให้เหมือนจริงมากที่สุดหรืออาจจะให้ผู้เรียนไปปฏิบัตินอกห้องเรียน หรือที่บ้านเก็บผลงานไว้ ในแฟ้มสะสมงานแล้วผู้สอนเรียกมาประเมินภายหลัง สถานการณ์ที่ประเมินควรเป็นสถานการณ์ที่ประเมินผู้เรียนได้หลายมิติ เช่น ทักษะ ความรู้ ความสามารถ การคิด และคุณลักษณะต่างๆ วิธีการที่ใช้ประกอบการประเมินตามสภาพจริงควรมีหลากหลายประกอบกัน เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์การตรวจงาน การรายงานตนเองของผู้เรียน การบันทึกจากผู้ที่เกี่ยวข้องการใช้ข้อสอบแบบเน้นการปฏิบัติจริง การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน  ซึ่งหัวใจสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง คือ ต้องสอน และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริง
 หลักการประเมินทางการศึกษา
หลักการประเมินทางการศึกษาโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ขอบเขตการประเมินต้องตรงและครอบคลุมหลักสูตร
2. ใช้ข้อมูลจากผลการวัดที่ครอบคลุม  จากการวัดหลายแหล่ง  หลายวิธี
3. เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการประเมินมีความชัดเจน  เป็นไปได้  มีความยุติธรรม  ตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ขั้นตอนในการประเมินทางการศึกษา
การประเมินทางการศึกษามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดจุดประสงค์การประเมิน   โดยให้สอดคล้องและครอบคลุมจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. กำหนดเกณฑ์เพื่อตีค่าข้อมูลที่ได้จาการวัด
3. รวบรวมข้อมูลจากการวัดหลายๆ แหล่ง
4. ประมวลและผสมผสานข้อมูลต่างๆ ของทุกรายการที่วัดได้
5. วินิจฉัยชี้บ่งและตัดสินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ประเภทของการประเมินทางการศึกษาการประเมินแบ่งได้หลายประเภท  ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง  ดังนี้
1. แบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน
การแบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้ดังนี้
1.1 การประเมินก่อนเรียน  หรือก่อนการจัดการเรียนรู้  หรือการประเมินพื้นฐาน (Basic Evaluation)เป็นการประเมินก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอนของแต่ละบทเรียนหรือแต่ละหน่วย  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.1.1 การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง (Placement Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาดูว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนอยู้ในระดับใดของกลุ่ม  ประโยชน์ของการประเมินประเภทนี้  คือ ครูใช้ผลการประเมินเพื่อกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน  ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนน้อยคืออยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ควรได้รับการเพิ่มพูนเนื้อหาสาระนั้นมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในลำดับต้นๆ คือ กลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนมากกว่า  หรือกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานในสาระที่จะเรียนดีกว่า  และแต่ละกลุ่มควรใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
1.1.2 การประเมินเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนการเรียนการสอนอีกเช่นกัน  แต่เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาแยกแยะว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนรู้มากน้อยเพียงใด  มีพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนในเรื่องที่จะสอนหรือไม่  จุดใดสมบูรณ์แล้ว  จุดใดยังบกพร่องอยู่  จำเป็นต้องได้รับการสอนเสริมให้มีพื้นฐานที่เพียงพอเสียก่อนจึงจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาในหน่วยการเรียนต่อไป  และจากพื้นฐานที่ผู้เรียนมีอยู่ควรใช้รูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร
1.2 การประเมินเพื่อพัฒนา หรือการประเมินย่อย (Formative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ การประเมินประเภทนี้ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน  เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนหรือไม่  หากผู้เรียนไม่ผ่านจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนก็จะหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผลการประเมินยังเป็นการตรวจสอบครูผู้สอนเองว่าเป็นอย่างไร แผนการเรียนรู้รายครั้งที่เตรียมมาดีหรือไม่ ควรปรับปรุงอย่างไร  กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างไร มีจุดใดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป
  1.3 การประเมินเพื่อตัดสินหรือการประเมินผลรวม (Summative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินหลังจากผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว อาจเป็นการประเมินหลังจบหน่วยการเรียนรู้หน่วยใดหน่วยหนึ่ง   หรือหลายหน่วย  รวมทั้งการประเมินปลายภาคเรียนหรือปลายปี ผลจากการประเมินประเภทนี้ใช้ในการตัดสินผลการจัดการเรียนการสอน หรือตัดสินใจว่าผู้เรียนคนใดควรจะได้รับระดับคะแนนใด
 2. แบ่งตามการอ้างอิง
การแบ่งประเภทของการประเมินตามการอ้างอิงหรือตามระบบของการวัด  แบ่งออกเป็น
2.1 การประเมินแบบอิงตน (Self-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อนำผลจากการเรียนรู้มาเปรียบเทียบกับความสามารถของตนเอง เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงตนเอง  (Self Assessment) เช่น ประเมินโดยการเปรียบเทียบผลการทดสอบก่อนเรียนกับทดสอบหลังเรียนของตนเอง การประเมินแบบนี้ ควรจะใช้แบบทดสอบคู่ขนานหรือแบบทดสอบเทียบเคียง (Equivalence Test) เพื่อเปรียบเทียบกันได้       
 2.2 การประเมินแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาว่าผู้ได้รับการประเมินแต่ละคนมีความสามารถมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ถูกวัดด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกัน การประเมินประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของกลุ่มเป็นสำคัญ นิยมใช้ในการจัดตำแหน่งผู้ถูกประเมิน หรือใช้เพื่อคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อ             2.3 การประเมินแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation) เป็นการนำผลการสอบที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ความสำคัญอยู่ที่เกณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถของกลุ่ม ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ได้แก่ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้
3. แบ่งตามผู้ประเมิน
การแบ่งประเภทของการประเมินตามกลุ่มผู้ประเมิน (Evaluator) แบ่งออกเป็น
 3.1 การประเมินตนเอง (Self Assessment) หรือการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เป็นการประเมินลักษณะเดียวกับการประเมินแบบอิงตน คือ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาหรือปรับปรุงตนเอง  การประเมินประเภทนี้สามารถประเมินได้ทุกกลุ่ม  ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง  ครูประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนของตนเอง นอกจากประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว  สามารถประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงได้ทุกเรื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาประเมินเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยอาจจะประเมินด้วยตนเอง หรือมีคณะประเมินของสถานศึกษา เรียกว่า การประเมินภายใน (Internal Evaluation)หรือการศึกษาตนเอง (Self Study) โดยอาจจะประเมินโดยรวม  หรือแบ่งประเมินเป็นส่วนๆ  เป็นด้านๆ  ลักษณะการประเมินอาจจะมีคณะเดียวประเมินทุกส่วน หรือจะให้แต่ละส่วนประเมินตนเองหรือภายในส่วนของตนเอง เช่น แต่ละระดับชั้นเรียน  แต่ละหมวดวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้  แต่ละฝ่าย อาทิ ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น  เพื่อให้แต่ละส่วนมีการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของตนเอง และอาจจะรวบรวมผลการประเมินแต่ละส่วนเพื่อจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Study Report : SSR หรือSelf Assessment Report : SAR)
3.2 การประเมินโดยผู้อื่นหรือการประเมินภายนอก (External Evaluation)  สืบเนื่องจากการประเมินตนเองหรือการประเมินภายในซึ่งมีความสำคัญมากในการพัฒนาปรับปรุง  แต่การประเมินภายในมีจุดอ่อนคือความน่าเชื่อถือ   โดยบุคคลภายนอกมักคิดว่าการประเมินภายในนั้น มีความลำเอียง ผู้ประเมินตนเองมักจะเข้าข้างตนเอง  ดังนั้นจึงมีการประเมินโดยผู้อื่นหรือประเมินโดยผู้ประเมินภายนอก เพื่อยืนยันการประเมินภายใน  และอาจจะมีจุดอ่อนหรือจุดที่ควรได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นในทรรศนะของผู้ประเมินในฐานะที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  

การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก
         
 ที่มา
อุษา คงทอง และคณะมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์.
      [Online] http://acad.vru.ac.th/pdf-handbook/Hand_Teacher.pdf.pdf.  การประเมิน
      ผลการเรียนรู้.สืบค้นเมื่อ20/08/58.

 ทิวัตถ์  มณีโชติ. [Online]  http://ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.doc.การ
      ประเมินผลการเรียนรู้.สืบค้นเมื่อ20/08/58.

ภูมิชนะ เกิดพงษ์. [Online] https://www.gotoknow.org/posts/181202.การประเมินผลการ
      เรียนรู้.สืบค้นเมื่อ20/08/58.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น